ก๊าซธรรมชาติคืออะไร ?

ต้นกำเนิด : ก๊าซธรรมชาติ คือ ปิโตรเลียมชนิดหนึ่ง ซึ่งปิโตรเลียม เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ภายใต้ความร้อนและแรงกดดัน เป็นเวลานาน หลายร้อยล้านปี น้ำหนักจากชั้นดิน ชั้นหิน ที่กดทับลงมา ความกดดันและความร้อนใต้พื้นโลก ทำให้ซากสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น แปรสภาพเป็นปิโตรเลียม ซึ่งประกอบด้วย น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ โดยส่วนที่เป็นก๊าซจะลอยอยู่ด้านบนสุด ตามด้วยน้ำมัน และส่วนที่เป็นน้ำจะอยู่ต่ำกว่าน้ำมันเสมอ 

องค์ประกอบ : ก๊าซธรรมชาติประกอบด้วยไฮโดรคาร์บอนหลายชนิด เช่น ก๊าซมีเทน, ก๊าซอีเทน, ก๊าซโพรเพน, ก๊าซบิวเทน เป็นต้น และยังมีสารประกอบที่ไม่ใช่ไฮโดรคาร์บอน เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์, ก๊าซไนโตรเจนและน้ำ โดยส่วนมากก๊าซธรรมชาติจะมีส่วนประกอบหลัก เป็นก๊าซมีเทนมากกว่า 70% 

คุณสมบัติ 

  1. มีสถานะเป็นก๊าซ อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถแปรสภาพก๊าซให้อยู่ในรูปของเหลวได้ด้วยการลดอุณหภมิลงที่ -160 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้ปริมาตรลดลง 600 เท่า ทำให้สามารถขนส่งทางเรือได้

  2. ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่ที่เราได้กลิ่นโดยเฉพาะเมื่อนำไปใช้เป็นก๊าซหุงต้มนั้นเกิดจากการเติมสารที่มีกลิ่นลงไปเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน ทั้งกระบวนการผลิตและขนส่ง

  3. เบากว่าอากาศ ก๊าซธรรมชาติมีค่าความถ่วงจำเพาะประมาณ 0.6 – 0.8 ดังนั้นเมื่อรั่วไหลจะลอยขึ้นสู่ที่สูง และฟุ้งกระจายไปในอากาศอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความปลอดภัยในการใช้งาน

  4. ติดไฟยาก มีช่วงการติดไฟอยู่ที่ร้อยละ 5-15 ของปริมาตรในอากาศ และอุณหภูมิที่สามารถติดไฟได้เองคือ 537 540 องศาเซลเซียส

  5. เป็นเชื้อเพลิงสะอาด มีการเผาไหม้สมบูรณ์ ปราศจากเขม่า เมื่อเผาไหม้จะก่อให้เกิดสารไนโตรเจนออกไซด์และซัลเฟอร์ออกไซด์ น้อยกว่าเชื้อเพลิงปิโตรเลียมประเภทอื่น จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า

ก๊าซธรรมชาติแต่ละแหล่งมีความแตกต่างกันหรือไม่ ?

ก๊าซธรรมชาติแต่ละแหล่งแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของคุณสมบัติและลักษณะของหลุมปิโตรเลียม ซึ่งจะส่งผลกระทบกับต้นทุนการขุดเจาะปิโตรเลียม แต่ละแหล่งดังนี้

  • แหล่งในประเทศบริเวณอ่าวไทย เช่น แหล่งบงกชเหนือ แหล่งบงกชใต้ แหล่งอาทิตย์ เป็นต้น

  • แหล่งผลิตหลักในประเทศ เป็นก๊าซธรรมชาติคุณภาพดีเนื่องจากมีสารประกอบไฮโดรคาร์บอนหลายชนิดผสมอยู่ ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการแยกก๊าซฯแล้ว สามารถนำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ อย่างไรก็ตามหลุมผลิตในอ่าวไทยมีลักษณะเป็นกระเปาะขนาดเล็ก กระจายตัวอยู่ ทำให้ต้นทุนที่ใช้ในการผลิตค่อนข้างสูง

  • แหล่งในประเทศบนบก เช่น แหล่ง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น, แหล่งสินภูฮ่อม จ.อุดรธานี และ แหล่งสิริกิติต์ จ.กำแพงเพชร

  • แหล่งจากประเทศเมียนมาร์ ( ยาดานา, เยตากุน, ซอว์ติก้า)

จำนวนครั้งที่เข้าชม
2
0
5
9
2
5
9